Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
watermark

บรรยายสรุปจังหวัดกาฬสินธุ์
---------------------------

ข้อมูลทั่วไปจังหวัดกาฬสินธุ์

ประวัติจังหวัดกาฬสินธุ์
สมัย กรุงธนบุรีประมาณ พ.ศ.2310 พระเจ้าองค์เวียนดาแห่งนครเวียงจันทน์ ได้สิ้นพระชนม์ โอรสท้าวเพี้ยเมืองแสนได้ยกกองทัพเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์และได้สถาปนา ขึ้นเป็น พระเจ้าแผ่นดินสืบแทน ทรงพระนามว่า "พระเจ้าศิริบุญสาร" พ.ศ. 2320 ท้าวโสมพะมิตร และ อุปราชเมืองแสนฆ้องโปง เมืองแสนหน้าง้ำเกิดขัดใจกับพระเจ้าศิริบุญสาร จึงรวบรวมผู้คนอพยพจากดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ข้ามมาตั้งบ้านเรือนบริเวณลุ่มน้ำก่ำแถบบ้านพรรณา (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร) ต่อมาท้าวศิริบุญสารได้ยกกองทัพติดตามมา ท้าวโสมพะมิตรจึงอพยพต่อไปโดยแยกเป็น 2 สาย คือ

            สายที่ 1 มี เมืองแสนหน้าง้ำเป็นหัวหน้า อพยพไปทางทิศตะวันออกสมทบกับพระวอหลบหนีไปจนถึงนครจำปาศักดิ์ขอพึ่งบารมี ของ   พระเจ้าหลวงแห่งนครจำปาศักดิ์ และตั้งบ้านเรือน ณ ดอนค้อนกอง ต่อมาเรียกว่า   "ค่ายบ้านดู่บ้านแก" ในปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าศิริบุญสาร  ให้เพี้ยสรรคสุโภย ยกกองทัพมาปราบ พระวอตายในสนามรบ ผู้คนที่เหลือจึงอพยพไปอยู่ในเกาะกลางลำแม่น้ำมูล ชื่อว่า "ดอนมดแดง"   (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี)
            สายที่ 2 มีท้าวโสมพะมิตรเป็นหัวหน้า ได้อพยพข้ามสันเขาภูพานลงมาทางใต้ และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกลางหมื่น ต่อมาท้าวโสมพะมิตร  ได้ส่งท้าวตรัยและคณะ ออกเสาะหาชัยภูมิที่จะสร้างเมืองใหม่ใช้เวลาประมาณปีเศษจึงพบทำเลที่เหมาะสม คือบริเวณลำน้ำปาวและเห็นว่าแก่งสำโรงชายสงเปลือยมีดิน น้ำอุดมสมบูรณ์ จึงอพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนและได้จัดตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมือง       
 
            พ.ศ. 2336 ท้าวโสมพะมิตรได้ นำเครื่องบรรณาการ คือ กาน้ำสัมฤทธิ์ เข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี และขอตั้งบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง ได้รับพระราชทานนามว่า "กาฬสินธุ์" และได้แต่งตั้งให้ ท้าวโสมพะมิตรเป็น  "พระยาชัยสุนทร"
        
            พ.ศ. 2437 สมัยพระยาชัยสุนทร (ท้าวเก) ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล มี มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และให้เมืองกาฬสินธุ์ เป็น "อำเภออุทัยกาฬสินธุ์" ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด
        
            วันที่ 1 สิงหาคม 2456 ได้ยกฐานะอำเภออุทัยกาฬสินธุ์เป็น "จังหวัดกาฬสินธุ์" ให้มีอำนาจปกครอง อำเภออุทัยกาฬสินธุ์ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอ กมลาไสย และอำเภอยางตลาด โดยให้ขึ้นต่อมณฑลร้อยเอ็ด
 
            วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2474 จังหวัดกาฬสินธุ์ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม และ 1 ตุลาคม 2490 ได้ยกฐานะเป็น "จังหวัดกาฬสินธุ์" จนถึงปัจจุบัน

            กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าละว้า ซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ 1,600 ปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2336 โดยท้าวโสมพะมิตร ได้อพยพหลบภัยมาจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพร้อมไพร่พล และมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำปาว เรียกว่า “บ้านแก่งสำโรง” แล้วได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า “เมืองกาฬสินธุ์” หรือ “เมืองน้ำดำ” ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล “กาฬ” แปลว่า “ดำ” “สินธุ์” แปลว่า “น้ำ” กาฬสินธุ์จึงแปลว่า “น้ำดำ” ทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ท้าวโสมพะมิตรเป็น “พระยาชัยสุนทร” ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก
                จังหวัด กาฬสินธุ์ ห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถยนต์ประมาณ 519 กิโลเมตร มีเนื้อที่ ประมาณ 6,946.746 ตร.กม. หรือ ประมาณ 4,341,716 ไร่ หรือ ร้อยละ 4.5 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

     ทิศเหนือ      ติดต่อกับ      จังหวัดสกลนคร และ จังหวัดอุดรธานี โดยมีลำน้ำปาวและห้วยลำพันชาดเป็นแนวกั้นแบ่งเขต
     ทิศใต้      ติดต่อกับ      จังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคาม
     ทิศตะวันออก      ติดต่อกับ      จังหวัดสกลนครและจังหวัดมุกดาหาร โดยมี สันปันน้ำของเทือกเขาภูพานเป็นแนวแบ่งเขต
     ทิศตะวันตก      ติดต่อกับ          จังหวัดมหาสารคาม โดยมีลำน้ำชีเป็นเส้นแบ่งเขตและบางส่วนติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น

 

ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด

สัญลักษณ์ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นรูปบึงใหญ่
ตฤณชาติและเมฆพยับฝน หมายถึง สัญลักษณ์ของ
ความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์ของภูมิภาค
ทิวเขาตรงสุดขอบฟ้า คือ แนวกั้นเขตแดนกับจังหวัดใกล้เคียง
น้ำในบึงมีสีดำเพื่อให้ตรงกับชื่อของกาฬสินธุ์
ตั้งเป็นเมือง พ.ศ.2336 จังหวัดกาฬสินธุ์แยกจาก
จังหวัดมหาสารคาม เมื่อ พ.ศ. 2490 ให้ชื่อย่อ "กส"
 
คำขวัญประจำจังหวัด
หลวงพ่อองค์ดำลือเลื่อง เมืองฟ้าแดดสงยาง
โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย
ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน
มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี

ต้นไม้ประจำจังหวัด

ต้นมะหาด เป็นไม้พระราชทานปลูกเพื่อเป็นมงคลประจำจังหวัดกาฬสินธุ์มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
"ARTOCARPUS LAKOOCHA ROXB" อยู่ในวงศ์ MORACEAE เป็นต้นไม้สูง 15 - 25 เมตร
ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนเกือบมนใบมีขนสากมือทั้งสองด้าน ใบดก
ดอก ออกเป็นช่อรวมทรงเกือบกลมตามซอกใบและปลายกิ่งดอกเป็นสีเหลือง ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์
ผล กลม ผิวขรุขระ สีเขียวเมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง ผลโตเต็มที่เกือบเท่าผลส้มเขียวหวาน เนื้อด้านในของผล
เป็นสีโอลด์โรส มีรสเปรี้ยวปนหวานเล็กน้อย สามารถรับประทานได้ มี 4 - 5 เมล็ด ออกผลประมาณเดือน
มีนาคม ผลแก่เดือนพฤษภาคม เนื้อไม้ หยาบและแข็งมาก นิยมใช้ก่อสร้าง ทำเครื่องดนตรี เปลือกทำเชือกได้
ราก ให้สีเหลืองใช้ย้อมผ้า สรรพคุณทางยา แก่นมะหาด ต้มน้ำดื่มเป็นยาละลายเลือด แก้ลม แก้กษัย แก้ท้องผูก
ราก ต้มน้ำดื่มแก้ไข้และขับพยาธิ
 
ดอกไม้ประจำจังหวัด

ดอกพยอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea roxburghii G. Don วงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ชื่อสามัญ Shorea white Meranti พะยอมเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่
สูงประมาณ 15–20 เมตร ทรงพุ่มกลม ผิวเปลือกสีน้ำหรือเทา เนื้อไม้มีสีเหลืองแข็ง
ลำต้นแตกเป็นร่องตามยาวมีสะเก็ดหนา ใบเป็นรูปมนรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบมน
ขอบใบเรียบ ด้านหลังใบมีเส้นใบชัด ดอกออกเป็นช่อ ใหญ่ส่วนยอดของต้น
ดอกมีกลีบ 3 กลีบ โคนกลีบดอกติดกับก้านดอกมีลักษณะกลม กลีบดอกเรียบโค้งเล็กน้อย
มีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม


image รูปภาพ
image
image

Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 31,286